ภาคประชาสังคม-รัฐ ร่วมถกกลไกสนับสนุนชุมชนชายฝั่ง ตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Policy recommendation on Climate Change Adaptation

Location: Bangkok, Thailand. 28th Oct 2013

กรุงเทพ, 28 ตุลาคม 2556 -ตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมและหน่วยงานภาครัฐกว่า 200 คน ร่วมเวทีเสวนาเพื่อหากลไกนำแผนและนโยบายสู่การลงมือทำเพื่อสนับสนุนชุมชนชายฝั่งตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นเวทีแรกที่สร้างการเชื่อมร้อยงานระดับนโยบายกับกรณีศึกษาระดับชุมชนชายฝั่ง เพื่อให้เกิดการตั้งรับปรับตัวฯ ที่มีชุมชนและระบบนิเวศ เป็นฐาน นำไปสู่การทำให้การตั้งรับปรับตัวฯ เป็นกระแสหลักในการกำหนดนโยบายการพัฒนาในทุกมิติ

 

งานเสวนานี้สอดรับกับในจังหวะที่ร่างแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (พ.ศ. 2556-2593) กำลังจะอยู่ในขั้นตอนการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นกรอบนโยบายที่สำคัญประการหนึ่ง ในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศในช่วง 40 ปี ต่อจากนี้ไป 

 

ทุกวันนี้ เป็นที่ยอมรับกันว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว ทั้งจากวงจรของธรรมชาติเองและผลจากการกระทำของมนุษย์ซึ่งเร่งให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยรูปแบบของผลกระทบนั้นจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตาม สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นชุมชนที่อยู่ริมชายฝั่งทะเลทั้งในไทย เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซียและอื่นๆ จะได้รับผลกระทบรุนแรงในอันดับต้นๆ

"หากย้อนไปดูสิ่งที่ผ่านมาและผลการคาดการณ์ที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า   ก็เห็นได้ชัดว่า ภยันตรายที่จะส่งผลต่อพื้นที่ชายฝั่งทะเลของประเทศไทยทั้งสองด้านจะเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น ฝนตกหนักและนาน เกิดภัยแล้งรุนแรงในบางช่วง ต้องเผชิญกับพายุและคลื่นพายุซัดฝั่ง ซึ่งนอกจากส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินแล้ว  ยังมีผลต่อแหล่งที่อยู่ทางธรรมชาติของพืชและสัตว์ ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร  และยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำมาหากินของชุมชนชายฝั่งซึ่งพึ่งพาทรัพยากรชายฝั่งและอาศัยสภาพธรรมชาติ"   พลโทนายแพทย์อำนาจ บาลี ผู้อานวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย กล่าว

ในระดับนโยบายของประเทศไทย ภายใต้กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) ได้ให้ความสำคัญกับการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัจจุบัน สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ประสานการจัดทำร่างแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (พ.ศ. 2556-2593)

“การมีกรอบนโยบายถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี  แต่การแปลงแผนให้เกิดการปฏิบัติเป็นเรื่องที่ท้าทายกว่า โดยเฉพาะในเรื่องของการตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่และเป็นเรื่องที่ต้องมองในระยะยาว  ทั้งยังมีช่องว่างและระยะห่างอยู่มากในการลงมือทำ  การเตรียมพร้อมและการสร้างขีดความสามารถในการปรับตัว ซึ่งเป็นการลงทุนที่จำเป็นสำหรับอนาคต กลไกต่างๆจะต้องหมุนไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดการผนวกเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ากับการกำหนดนโยบายรายสาขาที่เกี่ยวข้องเป็นกระแสหลักของการพัฒนา หรือว่า mainstreaming ได้อย่างต่อเนื่อง”

นายวิจารย์ สิมาฉายา รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าว

 

เพื่อประสานการทำงานในระดับนโยบายและสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน การเสวนาได้นำเสนอทางเลือกเชิงนโยบาย จากประสบการณ์และบทเรียนจากการทำงานในระดับชุมชนของทุกหน่วยงานภาคี ออกมาใน 6 มิติ ซึ่งเป็นรากฐานของการนำประเด็นการตั้งรับปรับตัวเป็นกระแสหลักในการพัฒนา เสมือนการทำงานในหลายด้านหลายมิติคล้ายลูกเต๋า เมื่อทอดออกไป   ต้องเคลื่อนออกไปทั้ง 6 ด้าน ในขณะเดียวกันภายในแกนกลางก็มีการเชื่อมประสานการดำเนินงานไว้ด้วยกัน

"เราต้องการเสนอให้ในระดับสถาบันมีกลไกการบริหารแบบพหุภาคี มีกฎหมาย ระเบียบและแผนงานที่เอื้อต่อการจัดการเชิงพื้นที่ มีกลไกเสริมสร้างศักยภาพและความตระหนักรู้ในทุกระดับ มีการจัดทำฐานข้อมูลและกลไกด้านการสื่อสารการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีประสิทธิภาพ มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการตั้งรับปรับตัวของชุมชน มีการสร้างแรงจูงใจสำหรับภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผ่านกลไกด้านการคลัง เพื่อให้เกิดการลงทุนที่ช่วยลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ"

นายพร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย กล่าว

 

เวทีเสวนาในครั้งนี้ร่วมจัดโดยเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการนำเสนอกรณีศึกษานำมาจากโครงการที่เกี่ยวข้องหลักๆ คือ (1) โครงการเสริมสร้างความสามารถในการรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ชายฝั่งเอเชียตะวันอออกเฉียงใต้ (2) โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนชายฝั่งทะเลเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย (3) โครงการเพิ่มศักยภาพการปรับตัวของชุมชนชายฝั่งที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ (4) โครงการป่าชายเลนเพื่ออนาคต

 

หมายเหตุถึงบรรณาธิการ

(1)   โครงการเสริมสร้างความสามารถในการรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ชายฝั่งเอเชียตะวันอออกเฉียงใต้ ดำเนินการในประเทศไทย เวียดนามและกัมพูชา โดยความร่วมมือของ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน GIZ และ VASI ในประเทศเวียดนาม สนับสนุนโดยคณะกรรมาธิการแห่งสหภาพยุโรป  www.iucn.org/building-coastal-resilience;

(2)   โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนชายฝั่งทะเลเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ดำเนินการในประเทศไทยและอินโดนีเซียโดยแคร์อินเตอร์เนชั่นแนล ส่วนงานในประเทศไทยนั้นบริหารจัดการโดยมูลนิธิรักษ์ไทย สนับสนุนโดยคณะกรรมาธิการแห่งสหภาพยุโรป  www.raksthai.org;

(3)   โครงการเพิ่มศักยภาพการปรับตัวของชุมชนชายฝั่งที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดำเนินการโดยสานักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กรมป้องกันและบรรเทา  สาธารณภัย สนับสนุนโดยกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกและโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ www.incaproject.in.th

(4)   โครงการป่าชายเลนเพื่ออนาคต (Mangroves for the Future - MFF) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นประธาน www.mangrovesforthefuture.org

(5)   รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับร่างแผนแม่บทรองรับเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (พ.ศ.2556-2593) ดูเพิ่มเติมได้จาก www.onep.go.th

 

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ คุณฌอเฌอ เทวบริหารตระกูล อีเมล์ chochoe.deva@gmail.com หรือโทร 087-075-9599 

Round table discussion on Thailand's policy on climate change adaptation and recommendation paper from civil society

Round table discussion on Thailand's policy on climate chang ... , Rama Garden Hotel, Bangkok, Thailand © Worrawut Kaenchan for Raks Thai/UNDP/Red Cross/MFF/IUCN, 2013

Related Documents

Policy recommendation for Thailand climate change policy

ทางเลือกเชิงนโยบาย เพื่อสนับสนุนชุมชนชายฝั่งตั้งรับปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Author: RaksThai/INCA/UNDP

Publisher: BCRCC in collaboration with INCA

Posted on: 29th Oct 2013

Category:

Size: 867 KB

Share this page